Friday, November 03, 2006

เร็วไม่ว่า ช้าให้เป็น

ช่วงนี้กำลังดื่มด่ำกับหนังสือที่แค่เห็นหน้าปกกับคอนเซ็ปต์เล่มก็รู้แล้วว่าต้องชอบ ๆ แน่ ๆ"เร็วไม่ว่า ช้าให้เป็น"
คนเขียนได้แรงบันดาลใจจากความตื่นตะลึงของ "นิทานก่อนนอนหนึ่งนาที" สังคมมันน่าเศร้าขนาดนี้เลยละ
จนต้องย่อซินเดอเรลล่าและคนแคระทั้งเจ็ดให้มาอัดแน่นกันในความยาวหนึ่งนาที

เวลาอ่านฮาวทูของฝรั่งต้องยอมรับว่าเค้าเขียนเก่งจริงๆ เข้มข้นด้วยข้อมูลมาก ๆ
ฉันเคยอ่านฮาวทูของไทยในนิตยสารหนึ่ง เค้าเขียนเรื่องวิธีไปวัด ไว้ว่า 1 อย่าแต่งตัวโป๊ 2 อย่าฉีดน้ำหอมมากเกินไป 3 วางตัวให้เหมาะสม เวรเอ๊ย.......ที่บอกมาเนี่ย ไม่รู้เลยนะเนี่ย!!!!!!

ในหนังสือเล่มนี้มีที่จิ๊ดใจอยู่ตรงหนึ่งคือ "ความเร็วช่วยให้เราปกปิดความน่าสะพรึงกลัวและแห้งแล้งของโลกสมัยใหม่เอาไว้ ในยุคของเรามีแต่ความปรารถนาที่จะลืม" คนที่พูดก็คือคุนเดอรานั่นเอง

มาคิดดูว่าฉันเคยมีช่วงเวลาที่ชีวิตช้ามาก ๆ ไหม ก็ต้องนึกย้อนไปไกลตอนที่ไปฝึกงานตอนปี 4
เพราะความที่เรียนมานุษยวิทยา เลยต้องลงพื้นที่ไปอยู่กับชาวบ้าน เลือกไปไกลถึงแม่ฮ่องสอนอยู่กับชาวลีซอ
เพราะไม่มี "โทรศัพท์และเครื่องปรับอากาศ" แถมไม่มีทีวีและวิทยุ ตื่นมาก็ทำกับข้าวตามมีตามเกิด
นั่งรอข้าวค่อย ๆสุกจากเตาดินเผา มีเวลาว่างมากขนาดตอนบ่าย ๆมานั่งทำแยมไว้กินด้วยแน่ะ!

แถมยังสนุกกับการหาเหาให้เด็ก ๆ และลามไปหาให้คนเฒ่าคนแก่
มีเวลาไปฟังคนแก่ ๆ ประจำหมู่บ้านเล่านิทานพื้นบ้านที่ไม่มีใครบันทึกไว้
มีเวลาไปเล่นน้ำจนปากซีด และมีเวลามากพอที่จะรู้ว่าคนบ้านไหนไม่ถูกกับบ้านหลังไหน และใครในหมู่บ้านเป็นญาติกันมั่ง หนึ่งเดือนในหมู่บ้าน ผ่านไปช้ามากๆๆๆๆ บางบ่ายที่ร้อนมากๆ ฉันรู้สึกเหมือนจะขาดใจตายให้ได้ สลับกับความรู้สึกที่ว่าทำไมเราถึงไม่ชินกับความช้าได้สักที ทั้งๆ ที่ลึก ๆแล้วเราก็ชอบมันนะ (งงไหมเนี่ย)
เห็นไหมละว่าความเคยชินคือคำสาปที่ร้ายกาจที่สุดของมนุษย์?


กลางคืนท่ามกลางแสงเทียนมืดมิด ก็มีเวลาว่างพอที่จะนึกถึงเรื่องราวที่ไม่เคยคิดว่าจะนึกถึงมาก่อน
นั่นคือช่วงเวลาที่ชีวิตฉันช้าที่สุดแล้ว พอมองย้อนกลับไปถึงได้รู้ว่าอาจารย์ไม่ได้ให้พวกเราไป "ฝึกงาน" หรอก
แต่ให้เราไปเรียนรู้ความเป็นคน ที่ต้องเข้าใจคนอื่นและเข้าใจตัวเองไปพร้อม ๆกัน และนี่คือพื้นฐานสำคัญของการเรียนมานุษยวิทยา

2 Comments:

Blogger GMclub said...

ถ้าการได้ทำชีวิตให้ช้าลงและค่อยๆเปิดโอกาสให้เราได้เรียนรู้ตัวเราและผู้คนรอบข้างคือพื้นฐานสำคัญของการเรียนมานุษยวิทยา
เราชักจะอิจฉาเด็กSoc Ant มอชอซะแล้วล่ะ

เพราะที่ผ่านมาการใช้ชีวิตทั้งช่วงเวลาทุกวันนี้และช่วงชีวิตของการเป็นนักศึกษา ดูเหมือนว่าเราจะไม่ได้หยุดพักเลย ด้วยเหตุผลที่ว่าต้องสะสมประสบการณ์ สะสมแต้ม สะสมแสตมป์ สติกเกอร์ หรือแม้เเต่สะสมไมล์ ไม่รู้จะสะสมหรือสั่งสมกันไปถึงไหน แทนที่จะปล่อยให้มันเป็นไปอย่างเอื่อยเฉื่อยแต่ก็สวยงามตามอัตภาพของมัน

การอยากทำอะไรได้หลายๆอย่างในเวลาเดียวกัน เป็นรูปแบบหนึ่งของการแข่งกับเวลา
เพราะถ้าเราช้านั่นหมายความว่า เรากำลังจะทำโอกาสดีๆที่เหลือหล่นหาย
แต่เหนือสิ่งอื่นใด ถ้าสังเกตดีๆเราก็ได้หลายอย่างกลับคืนมา

เหมือนตอนที่เราเป็นมาลาเรีย เมื่อตอนเรียนอยู่ปี 3 (ช่วงนั้นทำงานที่คณะหนัก เที่ยวต่างจังหวัดหนัก แต่เรียนน้อย) ผลข้างเคียงของไข้ที่ขึ้นสูงทำให้หูของมีปัญหาและทรงตัวไม่ได้ แต่สิ่งที่ทำให้เรารู้สึกสบายใจก็คือการคิดว่ามันคงเป็นกรรมชั่วคราวและหมอสมัยนี้ก็เก่งจะตาย เดี่ยวก็คงหาย แล้วก็จะมีแรงไปเรียน ดูหนัง เที่ยวเล่นต่อเหมือนเดิมอยู่ดี

แต่คนที่กลุ้มใจนี่สิ พ่อกับแม่ล้วนๆ(ขอโทษด้วย ที่ชอบทำให้เป็นห่วง แต่อาการแบบนี้เมื่ออายุมากขึ้นก็จะหายไปเอง-อันนี้มีคนบอกมาอีกที)

ก็แน่ล่ะลูกคนเดียวเสียด้วย จนทุกวันนี้ยังคิดเสียดายอยู่เลยว่าทำไมเราไม่มีพี่มีน้องเหมือนคนอื่นบ้างจะได้ช่วยกันแชร์ความเป็นห่วงจากพ่อกับแม่ไปได้บ้าง (เห็นความลำบากของลูกคนเดียวรึยังล่ะ--"อย่าฝากความหวังที่ฉันจนเกินไป"เพลงพี่ใหม่เขาว่าอย่างนั้น)

เมื่อเดินไม่ได้และต้องใช้เวลาช่วงหนึ่งหัดเดินไปมาในบ้าน เรารู้สึกรำคาญ และรู้สึกว่าวันเวลาทำไมมันถึงได้เชื่องช้าขนาดนี้ วันๆก็ได้แต่กินยา ดูทีวี บางวันมีเพื่อนมาเยี่ยม อ่านตำราเรียน(จะได้ตามเพื่อนให้ทัน) รวมทั้งอ่าน"ความน่าจะเป็นบนเส้นขนาน"ของปราบดา ที่ทำให้รู้ว่าการพลิกหน้ากระดาษช้าๆ (ส่วนหนึ่งมาจากฤทธิ์ยา)แล้วหลับคาหนังสือไปวันแล้ววันเล่าก็มีข้อดี

พูดได้ว่าทุกอย่างเป็นไปอย่างช้าๆ แต่มันก็มีข้อดีที่ทำให้เราได้เห็นรายละเอียดที่หลากหลาย
และเห็นด้วยว่าความเร็วที่มากเกินไปก็เป็นอันตราย ไม่อย่างนั้นเขาจะกำหนดความเร็วในเขตชุมชนไว้ทำไม!

the missing soul aftersix

11:31 AM

 
Blogger the aesthetics of loneliness said...

พี่คิดว่าความเร็วและความช้าของเรา ส่วนหนึ่งมาจากปัจจัยทางด้านร่างกายภายในด้วย
สารเคมีบางอย่างในสมอง หรือฮอร์โมนบางอย่างในร่างกาย มีส่วนขับดันให้เราคิดและทำ หรือมีนิสัยใจคอเร่งรีบและร้อนรุ่ม
ปัจจัยในร่างกายเหล่านี้ เกิดจากพันธุกรรม และเกิดจากการดำเนินชีวิตของเรา ที่สะสมมาเรื่อยๆ หรืออาจจะเรียกว่านิสัยที่ฝังเข้าไปในร่างกาย
การอ่านหนังสือดีๆ เล่มนึง อาจจะยังไม่สามารถช่วยให้เราช้าลงหรือสงบเย็นได้มากขึ้น
แต่มันต้องอาศัยการค่อยๆ ปรับปรุงนิสัยใจคอและกิจวัตรประจำวันหลายๆ อย่าง เป็นเวลานานๆ หลายปี

8:20 PM

 

Post a Comment

<< Home